กรม สบส. แนะวัยรุ่น เรียนรู้ เข้าใจ และสร้างค่านิยมที่ถูกต้องด้านเพศ ย้ำ ผู้ปกครอง ครู เปิดรับฟัง ความคิดเห็นด้านเพศกับวัยรุ่น และจัดกระบวนการสุขศึกษาให้เหมาะสมกับวัยรุ่นเพื่อการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมทางเพศที่ถูกต้องและเหมาะสมให้แก่วัยรุ่น นายแพทย์ณัฐวุฒิ ประเสริฐสิริพงศ์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่าการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น ช่วงอายุ 10-19 ปี ยังคงเป็นประเด็นที่ถูกนำเสนออย่างแพร่หลายที่คนในสังคมตื่นตัวและให้ความสนใจกับปัญหาของวัยรุ่น ทั้งนี้ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ได้ประเมินความรอบรู้ด้านสุขภาพเพื่อป้องกันการตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควร โดยสำรวจจากวัยรุ่นสตรีไทย อายุ 15-21 ปี จำนวน 2,001 คน พบว่า วัยรุ่นไทยเกือบครึ่ง ร้อยละ 46.7 มีพฤติกรรมเสี่ยงการตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควร ซึ่งสาเหตุมาจากวัยรุ่นมีความรอบรู้ด้านสุขภาพไม่เพียงพอต่อการป้องกันการตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควร มากถึงร้อยละ 95.5 รวมไปถึงการเข้าถึงสื่อลามกในโลกออนไลน์ได้ง่ายขึ้น ในขณะเดียวกันสื่อทางโทรทัศน์มักนำเสนอฉากแสดงความรักอย่างแพร่หลายในสังคมไทย จึงทำให้วัยรุ่นเชื่อว่าการมีเพศสัมพันธ์เป็นเรื่องความพึงพอใจของแต่ละบุคคล และกลายเป็นเรื่องที่สังคมยอมรับได้ ดังนั้น จึงทำให้วัยรุ่นเกิดพฤติกรรมเลียนแบบจนนำไปสู่การตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควร ซึ่งปัญหาดังกล่าวส่งผลกระทบทั้งทางด้านสุขภาพของวัยรุ่นและทารกในครรภ์ ด้านจิตใจของวัยรุ่น ซึ่งมีความน่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง หากวัยรุ่นมีการตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควรแล้ว เกิดการไม่ยอมรับจากอีกฝ่ายมีโอกาสตัดสินใจผิดพลาด ในการนำไปสู่การทำแท้ง หรือในกรณีวัยรุ่นคลอดลูกแล้ว อาจต้องให้ผู้ปกครองหรือญาติเลี้ยงลูกแทน เนื่องจากวัยรุ่นยังไม่สามารถประกอบอาชีพหาเงินมาจุนเจือเลี้ยงดูลูกได้ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพให้ความสำคัญกับปัญหาดังกล่าว จึงได้มีนโยบายในการมุ่งเน้นส่งเสริมความรอบรู้ด้านสุขภาพให้แก่วัยรุ่น เพื่อให้วัยรุ่นมีพฤติกรรมสุขภาพที่ถูกต้องและเหมาะสม นายชาญยุทธ พรหมประพัฒน์ ผู้อำนวยการกองสุขศึกษา กล่าวว่า ปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยเรียนเป็นปัญหาสำคัญในกลุ่มวัยรุ่น แม้ว่าเด็กวัยรุ่นจำนวนมากจะได้รับการสอนเพศศึกษาในโรงเรียนแต่ความรู้เหล่านั้นยังไม่ครอบคลุม ทำให้เด็กนักเรียนจำนวนมากยังขาดความรู้ความเข้าใจ และทักษะที่ถูกต้องในการปฏิเสธการมีเพศสัมพันธ์ ประกอบกับปัจจุบันค่านิยมของสังคมไทยเริ่มยอมรับในเรื่องการมีเพศสัมพันธ์ในวัยรุ่นมากขึ้น ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งที่ส่งเสริมให้วัยรุ่นมีเพศสัมพันธ์ในวัยเรียนเพิ่มมากขึ้น ดังนั้น ครอบครัว ชุมชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรมีส่วนร่วมในการจัดกระบวนการเรียนรู้เรื่องเพศศึกษาและการปรับเปลี่ยนค่านิยมเรื่องรักนวล สงวนตัวให้กับวัยรุ่น ซึ่งกระบวนการสุขศึกษาเป็นกลวิธีสำคัญที่ส่งเสริมศักยภาพของวัยรุ่นให้มีความรอบรู้และมีทักษะด้านสุขภาพที่จำเป็นเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์เสี่ยงที่มีโอกาสจะเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ทั้งนี้ ผู้ปกครอง ครู และวัยรุ่น สามารถศึกษาหรือสอบถามข้อมูลปัญหาด้านเพศได้จากหน่วยงานในกระทรวงสาธารณสุขหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และสามารถเข้าไปเรียนรู้รูปแบบกระบวนการสุขศึกษา ผ่านเว็บไซต์กองสุขศึกษา www.hed.go.th และเรียนรู้ด้านสื่อสุขศึกษาในรูปแบบที่หลากหลายและเข้าใจง่ายผ่านเว็บไซด์คลังความรู้ด้านสุขภาพ healthydee.moph.go.th ของกระทรวงสาธารณสุขได้
วันที่โพส วันที่ 8 สิงหาคม 2562 เวลา 10.04 น. ,อ่าน 307 , โพสโดย กลุ่มแผนงาน
แสดงความคิดเห็น